Tag: art

Paper & Ink

งานชุดนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องตามกติกาของ Sketchland Yard รึเปล่า แต่คิดว่าน่าจะพอลงได้ เพราะถึงแม้งานชุดนี้จะเป็นงานวาดเส้นด้วยหมึกแต่ไม่ได้วาดจากสิ่งที่เห็นภายนอก เป็นการวาดสดๆ ออกมาจากสิ่งที่เห็นในความคิด ความรู้สึกภายใน…

1

2

3
เรื่องมีอยู่ว่า เนื่องจาก บีช วอร์ค โฮมสเตย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลหิน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคุณ Mr. Svein Christiansen ชาว Norway อดีตภัณฑารักษ์ (Curator) ที่มีผลงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และการดูแลศิลปินระดับโลกมาแล้วมากมาย และยังเป็นผู้ดูแล บีช วอร์ค โฮมสเตย์ แห่งนี้ ได้มีแนวคิดจัดโครงการปฏิบัติการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Paper & Ink ภายใต้หัวข้อ Sea meet Land (กำหนดไว้กว้างๆโดยที่ศิลปินไม่จำเป็นต้องทำงานตามหัวข้อนี้ก็ได้) ในวันที่ 10 – 17 มิถุนายน 2557 ณ บีช วอร์ค โฮมสเตย์ โดยมีแนวคิดในการดำเนินงาน คือ ต้องการนำเสนอเทคนิคโบราณแบบคลาสสิกในการใช้หมึกกับกระดาษที่มีมาอย่างเนิ่นนาน นำมาทดลองให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตามวิถีทางการสร้างสรรค์แบบร่วมสมัย โดยมีแนวคิดหลักอันเรียบง่ายด้วยการใช้แรงบันดาลใจจาก ท้องทะเลจรดผืนแผ่นดิน สู่น้ำหมึกและกระดาษ โดยที่ศิลปินมีอิสระในการแสดงออกซึ่งตัวตนในหนทางที่พวกเขาปรารถนา โดยมีศิลปินจาก 5 ประเทศร่วมงานดังนี้

Arvid pettersen (Norway)
Bard Breivik (Norway)
Kjell Torriset (Norway)
Inghild Karlsen (Norway)
Karina Herteig (Norway)
Margaretha Asberg (Sweden)
Paretas Hutanggura (Thailand)
Somchai Sahavisit (Thailand)
Pichate Chaisong (Thailand)
Bussaraporn Thongchai (Thailand)
Dearborn K. Mendhaka (Thailand)
Chaiyan Chongchongprasert (Thailand)
Megumi Shimizu (Japan)
Zhang Ling Yun (China)

4

5

ภาพผลงานที่ส่งมาลงนี้ เฉพาะงานของผมนะครับเพราะถ้าเอามาหมดทุกคนคงไม่ไหว ภาพผลงานอื่นๆบรรยากาศในการทำงานและวันเปิดนิทรรศการถ้าใครสนใจก็ดูได้ในเฟซบุ๊คนะครับ….
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับการทำงานของศิลปินต่างๆ ก็จะไปพักอยู่ที่บีช วอร์ค โฮมสเตย์ ประมาณ หนึ่งสัปดาห์ แต่ผมกับพี่ๆอีกสองคนก็ไปๆมาๆ ได้ค้างจริงแค่สองคืนโดยใช้วิธีไปเช้าดึกกลับ เพราะมีธุระหลายอย่างที่มหาวิทยาลัยในช่วงนั้นพอดีก็ถือว่าฉุกละหุกพอสมควร แต่ก็ทำงานชิ้นเล็กๆได้สิบกว่าชิ้น คัดเหลือไว้แสดงสิบชิ้นพอดี เพราะการเขียนภาพด้วยหมึกจีนก็ต้องทำความคุ้นเคยกับกระดาษพอสมควร ซึ่งมีกระดาษสำหรับเขียนภาพจากจีนมาให้เราได้ลองเล่นหลายชนิดมากและแต่ละชนิดก็ให้ผลในการลงหมึกที่แตกต่างกัน ซึ่งผมเองก็เคยลองเขียนภาพด้วยหมึกจีน พู่กันจีน และกระดาษจีนอยู่ช่วงหนึ่งไม่กี่ครั้งก็เมื่อ สิบหกปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นตอนเรียนอยู่ปีหนึ่งครั้งที่หนึ่งสาขาที่ผมเรียนอยู่ (เรียนแค่ปีเดียวก็ออกครับ 555+) ได้เชิญศิลปินจากจีนมาสอนในวิชาวาดเส้นโดยใช้เทคนิคแบบจีน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งป่านนี้ก็ไม่รู้ว่าแกยังมีชีวิตอยู่รึป่าวเพราะตอนนั้นอาจารย์แกก็อายุมากแล้ว

6

7

…..กลับมาที่ Paper & Ink ครับ พอได้เขียนหมึกจีนเลยทำให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ นิดหน่อย ที่จริงหมึกจีนก็ไม่แตกต่างจากสีน้ำเท่าไหร่ เขียนสนุกสีวิ่งดี ซึมซอฟต์ได้สวยครับหนักเบาแล้วแต่ปริมาณน้ำที่ผสมกับหมึกและการใช้พู่กันในการควบคุม แต่กระดาษที่ใช้เขียนจะมีลักษณะคล้ายกระดาษสาแต่บางมาก ดังนั้นเมื่อเขียนเสร็จ งานแห้งแล้วต้องมีการผนึกกระดาษครับซึ่งช่างเทคนิคคนเก่งของเราก็คือคุณ Zhang Ling Yun นั่นเอง (ชายร่างเล็กกล้ามเป็นมัดที่กำลังผนึกภาพนั่นแหละครับ) ซึ่งพี่แกเป็นทั้งศิลปินนักเขียนตัวหนังสือจีน และช่างเทคนิคครับ ผลงานทุกคนต้องผ่านมือแกก่อนถึงจะนำไปแสดงได้ผมรู้สึกว่าพี่แกต้องทำงานหนักพอสมควรเพราะลุงๆ ป้าๆ อาร์ติสจากนอร์เวย์ ทั้งหลายผลิตงานกันชิ้นใหญ่ๆคนละหลายสิบชิ้นครับ การผนึกก็โดยคว่ำงานลงทาด้วยกาวที่กวนจากแป้งข้าวโพดใช้กระดาษบางๆ ผนึกด้านหลังประมาณสี่ชั้นแล้วนำไปขึงกับกระดานไม้อัดตากในที่ร่มรอจนแห้งภาพจะตึงเปะมีพื้นทีสีขาวโดยรอบเหมือนติดการ์ดหรือใสกรอบเลยทีเดียว ดั้งนั้นศิลปินที่ทำงานก็ต้องเผื่อเวลาให้งานที่ผนึกแห้งทันด้วยนะครับ…(งานนี้เป็นศิลปะแบบร่วมสมัยศิลปินบางคนอาจใช้สื่อวัสดุอื่นๆ มาผสมผสานได้ตามต้องการเลยแต่ผมก็ใช้หมึกจีนกับกระดาษธรรมดาๆนี่แหละครับเพราะรู้สึกว่ามันเรียบง่ายดีไม่วุ่นวาย)

8

9

ส่วนการคัดเลือกงานแสดงนั้น งานที่เจ้าของผลงานคัดเลือกมาอาจไม่ได้แสดงทั้งหมดเพราะผู้ที่มีสิทธิ์เลือกงานคือ คุณ Svein ที่เป็น Curator ของงานนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกผลงานและแม้แต่การติดตั้งก็ต้องจัดวางตำแหน่งตามที่ลุงแกกำหนดเท่านั้นนะครับ และงานผมก็เหมือนกันตอนแรกติดผนังไปแล้วสิบชิ้น แต่แล้วมีสองชิ้นที่ต้องโดนเลือกออกเพราะจัดวางลงแล้วมันไม่เข้ากับภาพอื่นๆ ทั้งในด้านขนาดและความรู้สึก (ผมสังเกตว่าคุณ Svein แกจะคำนึงถึงอารมณ์ในการเสพชมภาพของผู้ดูเป็นสำคัญครับ งานต้องมีความกลมกลืนไม่กระโดดไปกระโดดมาทั้งรูปแบบและเนื้อหา หรือความรู้สึกในการรับรู้)

10

11

งานที่ไม่ได้แสดงในนิทรรศการมีสองภาพ โดยเฉพาะภาพที่เป็นงานชุดสามชิ้นต่อกัน เป็นภาพที่ผมชอบที่สุดเพราะเป็นภาพชิ้นหลังสุดในการทำงานครั้งนี้จึงรู้สึกว่าควบคุมเนื้อหาและเทคนิคได้ดีขึ้นแล้ว ที่สำคัญมีพี่เบิ้มศิลปินต่างชาติหลายคนก็ชมผลงานชิ้นนี้ด้วย (แอบภูมิใจ) แต่มันก็มีลางตั้งแต่แรกแล้วครับ ก็หลังจากเขียนภาพนี้เสร็จผมต้องกลับมาที่บ้านไม่ได้ค้างคืนเลยฝากน้องที่เวิร์คชอปด้วยกันให้คุณ Zhang ช่างเทคนิคของเราผนึกภาพครับโดยที่โทรบอกน้องซึ่งถือว่าเก่งภาษาอังกฤษที่สุดในทีมศิลปินไทยเป็นคนอธิบายวิธีการเรียงภาพให้คุณ Zhang โดยเขียนตัวเลขกำกับเรียงลำดับ 1 2 3 อีกต่างหาง แต่พอเห็นงานที่ผนึกเสร็จกลายเป็น 3 2 1 เฉยเลยครับ ก็เพราะพี่แกเรียงแบบจีนคือจากขวามาซ้ายนั้นเอง….5555+ แต่ก็ไม่เป็นไร สวยไปอีกแบบ ถือว่าเก็บไว้เป็นที่ระลึกทำให้นึกถึงบรรยากาศในการทำงานครั้งนี้และคุณ Zhang ช่างเทคนิคคนขยันและศิลปินนักเขียนอักษรจีนของเราครับ……

สำหรับนิทรรศการผลงานจัดแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองคอน อ. เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ 17 ถึง 30 มิถุนายนนี้และเนื่องจากการเวิร์คชอปเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีเวลาทำงานแค่วันที่ 15 วันที่16 ติดตั้ง 17 แสดงงานเลย ดังนั้นผลงานจึงไม่มีการใส่กรอบ ใช้วิธีแปะข้างฝาอย่างที่เห็นการประชาสัมพันธ์ก็ทางเฟซบุ๊คและปากต่อปากบอกต่อๆกันไปเท่านั้นครับ…..